ย้อนหลังกลับไปปี 2541 เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาเทศกาลศิลปะแสดงสดเอเชียโทเปีย เริ่มต้นขึ้นอย่างเล็ก ๆ ที่สวนสราญรมณ์ ตรงข้ามวัดโพธิ์ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า เทศกาลศิลปะที่เป็นอิสระ ขนาดเล็ก ๆ ที่เริ่มขึ้นในเวลานั้น จะเติบโตขึ้นมาเป็นเทศกาลศิลปะที่รู้จักไปทั่วทั้งโลก ในปี 2551
เดือนพฤศจิกายน 2551 ที่จะถึงนี้ตลอดทั้งเดือน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และศูนย์
บ้านตึก (ผู้ริเริ่มเอเชียโทเปีย) ได้ร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพ เฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี ของเทศกาลศิลปะแสดงสด ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาตินี้ ตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2551 – 30 พฤศจิกายน 2551 ตลอดหนึ่งเดือนเต็ม ๆ ที่วงการศิลปะไทยจะได้พบกับศิลปินที่มีชื่อเสียงกว่า 100 คนจากทั่วทั้งโลก เทศกาลที่ถือเป็นมหกรรมศิลปะแสดงสดนี้ ยังจะถือเป็นการร่วมฉลองการเปิดหอศิลปร่วมสมัยแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร อีกด้วย
การแสดงสด ของศิลปิน 100 ชีวิตจาก 31 ประเทศ จะจัดขึ้นที่ภายในหอศิลปะกรุงเทพฯ ในทุกสุดสัปดาห์ ทั้ง 5 สัปดาห์ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน ศิลปินที่มีชื่อเสียงจากทุกภูมิภาคของโลก เช่น ตรัน เหลือง จากเวียดนาม ถึง อเลสแตร์ แมคเลนนอน จากเบลฟาสต์, อังเดร สติตจากคาร์ดีฟ/เวลส์ ถึงโทนี่ สเวนเซ่น จากออสเตรเลีย, มาริลีน อาร์เสม จากบอสตัน /สหรัฐฯ, จูเลี่ยน เบลน-ฝรั่งเศส, ปีเตอร์ บาเรน-เนเธอร์แลนด์, วาเลอเรียน มาลี จากสวิสต์เซอร์แลนด์, ราคเควล เดอ โลโยลา จากฟิลิปปินส์, อาราไมอานี จากอินโดนีเซีย ฯลฯ (โปรดดูรายชื่อศิลปินที่แนบมาด้วย) รวมทั้งศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงด้านแสดงสด เช่น จุมพล อภิสุข, วสันต์ สิทธิเขตต์, ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง ฯลฯ เป็นต้น
นิทรรศการ ศิลปะแสดงสด หนังสือ, ภาพ, วิดีโอ, เกี่ยวกับศิลปะแสดงสด ที่ตีพิมพ์ตามเทศกาลต่าง ๆทั่วโลก, รวมทั้งวัสดุ และศิลปวัตถุ ที่ศิลปินใช้ในเทศกาลเอเชียโทเปีย ที่เก็บสะสมไว้ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา
เสวนา และบรรยาย โดยศิลปิน ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งของเอเชียโทเปีย ที่จะโยงสายใยเครือข่ายศิลปินในเอเชียอาคเนย์ โดยเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนกันในทางทฤษฎี และการเคลื่อนไหว
ตัวอย่างได้เห็นเมื่อปี 2548 เมื่อเอเชียโทเปีย จัดการสัมมนาศิลปินเอเชียอาคเนย์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมุ่งไปที่การมองการเคลื่อนไหวศิลปะแบบเชื่อมร้อยสัมพันธ์กัน
ในปีนี้ ตลอดวันหยุดสุดสัปดาห์ทั้ง 4 สัปดาห์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมและฟังการบรรยาย ของศิลปินนานาชาติ (มีแปลเป็นไทย) เกี่ยวกับงานของศิลปินเอง, การค้นคว้า และการสังเกตการณ์ สภาพสังคม การเมือง ในภูมิภาคนี้ เฮลเก้ มายเยอร์ จากเยอรมันนี จะบรรยายเกี่ยวกับการค้นคว้าของเขา ในหัวข้อ ศิลปะที่แสดงความเจ็บปวดทางกาย อ.โฆษิต จันทราทิพย์ เรื่องร่างกายในฐานะสื่อศิลปะ, เฮรู ฮิกายัต นักวิจารณ์และผู้จัดศิลปะที่มีชื่อเสียงของอินโดนีเซีย จะเล่าถึงการเคลื่อนไหวใหม่ ๆในอินโดนีเซีย และดร. อภินันท์ โปษยานันท์ จะนำเสนอภาพรวมของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียอาคเนย์วันนี้ ในโลกยุค ไอที
นอกจากนี้การฉลองยังกระจายตัวไปถึงเชียงใหม่ เป็น มินิเอเชียโทเปีย ในสุดสัปดาห์ที่ 14-16 พย. ที่บริเวณ หอศิลปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมงานเอเชียโทเปียเชียงใหม่ นำโดย อ.ผดุงศักดิ์ คชสำโรง จะเชิญศิลปินนานาชาติ กว่า 10 ชีวิต มาแสดงแลกเปลี่ยนกับศิลปินแสดงสดเชียงใหม่ และยังจะมีการจัดอบรมปฏิบัติการแสดงสด โดยมารีลิน อาร์เสม และการบรรยายโดยศิลปินนานาชาติอีก หลายคน
สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ info@asiatopia.org / www.asiatopia.org หรือที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทร.02- 2146630 - 9
1 comment:
ผมขออนุญาตเจ้าของบล็อกประชาสัมพันธ์เรื่องการบริจากโลหิตหน่อยนะครับ คือผมเพิ่งไปบริจากมาเลยทำให้ได้ความรู้มาอยางนึง ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ก็คงจะไม่รู้เช่นกัน ทราบหรือเปล่าครับว่าคนเราที่จริงแล้วมีเลือดส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คือปกติร่างกายเราต้องการเพียง 15-16 แก้ว แต่เรามีมากถึง 17-18 แก้ว นั่นก็คือมีเลือดส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ครับ แล้วส่วนเกินนี้ปกติมันจะไปที่ไหนครับ ก็ถูกขับทิ้งออกมาทางปัสวะนั่นเอง ดังนั้นอย่าให้มันเสียเปล่าเลยครับ ไปบริจากให้คนที่เค้าต้องการดีกว่า ขอขอบคุณท่านเจ้าของบล็อกมากครับ การช่วยเผยแพร่ข้อมูลก็ถือเป็นบุญกุศลอย่างมากเลยครับ
Post a Comment